วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

เปิดนโยบาย"เศรษฐกิจ" รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"

 
นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นโยบายเศรษฐกิจมหภาค    
     1.ดำเนินการให้มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมให้แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ และให้เศรษฐกิจสามารถเจริญเติบโตในอัตราสูงอย่างมีเสถียรภาพ โดยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มีการจ้างงานเต็มที่ ระดับราคามีเสถียรภาพ ระมัดระวังความเสี่ยงจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ
     2.ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
     3.พัฒนาระบบสถาบันการเงินในประเทศให้รับผิดชอบต่อคนส่วนใหญ่และผู้ด้อยโอกาส สามารถให้บริการที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมการเงินและความต้องการที่เปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจและสังคมด้วยค่าบริการที่ต่ำและการบริการที่มีประสิทธิภาพ
     4.ปรับโครงสร้างภาษีอากรทั้งระบบ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างความเป็นธรรมในสังคม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างฐานรายได้ภาษีที่ยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ทั้งจากภาษีและที่มิใช่ภาษี
     5.ส่งเสริมและรักษาวินัยการคลัง โดยปรับปรุงองค์ประกอบและโครงสร้างงบประมาณให้เหมาะสม มีระบบบริหารความเสี่ยงทางการคลังที่มีประสิทธิภาพ
     6.ปรับปรุงโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจ โดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเร่งฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาฐานะการเงิน
     7.บริหารสินทรัพย์ของประเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมทั้งพิจารณาการจัดตั้งกองทุนที่สามารถใช้ในการบริหารสินทรัพย์ของชาติให้เป็นประโยชน์ เช่น กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองแห่งชาติ และกองทุนความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น

นโยบายสร้างรายได้
     1.ส่งเสริมการท่องเที่ยวจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ จัดให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยว ให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวในเวลา 5 ปี
     2.ขยายบทบาทให้ธุรกิจการเกษตรและอาหารซึ่งเป็นแหล่งรายได้และการจ้างงานในประเทศมาเป็นเวลานานให้ก้าวข้ามไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอาหารคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่มีฐานะและรสนิยมเฉพาะตัว การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรและอาหาร จะทำให้เป้าหมายการเป็นครัวที่มีคุณภาพของโลกสัมฤทธิผลรวดเร็วยิ่งขึ้น
     3.ส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานปิโตรเลียมและพลังงานทดแทนสามารถสร้างรายได้จากความต้องการภายในประเทศ รวมทั้งสร้างการจ้างงานให้แก่ประเทศโดยถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่
     4.ยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขยายช่องทางการตลาดของธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการในประเทศ และธุรกิจวิสาหกิจชุมชนให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณค่าและคุณภาพสูง
     5.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขยายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีความพร้อมทางด้านแรงงานและวัตถุดิบเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศและภูมิภาค
     6.ดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศในสาขาที่เป็นการผลิตสินค้าและบริการที่มีพื้นฐานทางเทคโนโลยีมีมูลค่าสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลงทุนในการสร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ที่เหมาะสม และโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ
     7.เสริมสร้างกระบวนการสร้างอาชีพ สร้างงานที่มีคุณภาพและมีรายได้สูงให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
     8.ส่งเสริมการขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการเงิน ภายใต้ประโยชน์ร่วมกันของกรอบความร่วมมือและข้อตกลงทางการค้า

นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
ภาคเกษตร    
     1.ส่งเสริมสนับสนุนให้สภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นกลไกของเกษตรกรในการสื่อสารกับรัฐบาลและร่วมกันพัฒนาเกษตรกรด้วยตนเองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
     2.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช โดยการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช ใช้ปุ๋ยตามคุณสมบัติของดินแต่ละชนิด เพื่อลดต้นทุนการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิต
     3.เพิ่มศักยภาพกระบวนการผลิตด้านปศุสัตว์ให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศและการส่งออก
     4.พัฒนาการประมง ทั้งในการเพาะเลี้ยงและในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการฟื้นฟูทรัพยากรประมงและจัดระเบียบการทำประมงให้สมดุลกับศักยภาพการผลิตตามธรรมชาติ ขยายพื้นที่อนุรักษ์เพื่อการประมงทะเลพื้นบ้าน ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แสวงหาลู่ทางการทำประมงในน่านน้ำต่างประเทศที่ไม่ขัดต่อระเบียบขององค์การระหว่างประเทศและประเทศที่นำเข้า
     5.เสริมสร้างฐานรากของครัวเรือนเกษตรกรให้เข้มแข็งโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาระบบการผลิตที่เป็นขั้นตอน
     6.จัดทำระบบทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรที่มีข้อมูลการเกษตรของครัวเรือนครบถ้วน สามารถเชื่อมโยงกับบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกรและมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ
     7.เร่งรัดพัฒนาธุรกิจการเกษตร โดยการพัฒนาสถาบันเกษตรกรในด้านธุรกิจ สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่จากโครงการกองทุนตั้งตัวได้
     8.พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าเพิ่มเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก
     9.ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ ดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรและสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อเผชิญกับวิกฤตอาหารโลก

ภาคอุตสาหกรรม
     1.ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในประเทศด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนส่งเสริมให้มีการสร้างตราสินค้าไทย
     2.ยกระดับภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ใช้ปัญญา ใช้เทคโนโลยี และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทดแทนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก
     3.พัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปบนฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และมีโอกาสในการขยายตลาด
     4.สร้างความเข้มแข็งให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยสนับสนุนช่องทางการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินต่างๆ
     5.กำหนดมาตรฐานและคุณภาพขั้นพื้นฐานของสินค้าอุตสาหกรรมเมื่อมีการเปิดเสรีการค้ามากขึ้น เพื่อป้องกันสินค้านำเข้าที่ไม่ได้คุณภาพ
     6.พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งใหม่ รวมทั้งการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยสำหรับรองรับอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน
     7.เร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ร่วมกับชุมชนได้
     8.ส่งเสริมและจัดให้มีมาตรการทางภาษีและมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน และการใช้พลังงานจากภาคเกษตร
     9.สนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกสาขาการผลิตเข้าประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม
     10.เร่งรัดสำรวจและแสวงหาแหล่งแร่สำคัญ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และพัฒนาอุตสาหกรรมต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน

การตลาด การค้า และการลงทุน
     1.ส่งเสริมนโยบายการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการผูกขาดตัดตอน ส่งเสริมและพัฒนาบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐและเอกชน แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค
     2.สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปรับปรุงพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบที่ส่งเสริมการค้าการลงทุนที่ครอบคลุมการลงทุนด้านเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ และปรับปรุงมาตรการบริหารการนำเข้าเพื่อป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรม
     3.สนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศในสาขาที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนการเปิดร้านอาหารไทยของคนไทยตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก และนโยบายไทยเป็นครัวอาหารโลก
     4.ปรับปรุงมาตรการการส่งเสริมการลงทุนให้ครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การกีฬา และบริการ
     5.ส่งเสริมการขยายตลาดเชิงรุกเพื่อรักษาตลาดเดิมและสร้างตลาดใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปตลาดหลัก โดยส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการในตลาดใหม่ ได้แก่ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปตะวันออก
     6.พัฒนาสินค้าและบริการที่สร้างโอกาสใหม่ในการหารายได้ การผลิตสินค้าและบริการอันเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาดโลก
     7.ขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุน และการตลาดภายใต้กรอบความร่วมมือและข้อตกลงการค้าเสรีในระบบพหุภาคีและทวิภาคี
     8.เร่งรัดจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยให้ความสำคัญต่อจังหวัดชายแดน เพื่อส่งเสริมการค้า การตลาด การลงทุน การจ้างงาน และการใช้วัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น