ความล่าช้าในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะทำให้คะแนนนิยมตกอย่างรวดเร็วชั่วโมงนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเจอปัญหาเดียวกัน ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากกำลังทำให้คะแนนของรัฐบาลจมน้ำ "ประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทั้งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง โดยปีพ.ศ. 2553 พบว่า ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ได้เกิดน้ำท่วมและอุทกภัยรุนแรงในหลายสิบจังหวัดเกือบทั่วประเทศ" นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาในการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก ล่าสุด รายงานการศึกษาเรื่อง "การบริหารจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยของประเทศไทย" จัดทำโดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินในปี 2554 ได้เสนอไปยังนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อไม่นานมานี้ มติชนออนไลน์ นำเสนอ รายงานการศึกษา ดังนี้
ปัญหาใหญ่ 8 ประการ ประกอบด้วย
-การตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นสาเหตุของน้ำท่วม
-การบุกรุกลำน้ำและการขุดลอกคูคลอง
-การกำหนดทิศทางการระบายน้ำไว้ในผังเมือง
-การเตือนภัย
-การเตรียมพร้อมอพยพเมื่อเกิดอุทกภัย
-การเปลี่ยนโครงสร้างระบบบริหารราชการที่มีการทำงานซ้ำซ้อน
-การจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ
-ความไม่พร้อมหลังการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และได้เสนอให้มีการเสนอยกร่างและปรับปรุงกฎหมาย
โดยในรายงานดังกล่าว สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอวิธีแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวดังต่อไปนี้
วิธีแก้ปัญหาในระยะสั้น
รัฐควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในท้องถิ่นเร่งจัดสร้างบ่อ ขุกลอกบ่อเดิม หรือตัดให้มีแหล่งรับน้ำขนาดใหญ่ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะให้เริ่มดำเนินการในพื้นที่ที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำซึ่งมักเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ทั้งนี้เพื่อชะลอการไหลบ่าของน้ำในฤดูฝนลงในบ่อน้ำหรือแก้มลิงที่รองรับน้ำไว้ชั่้วคราว ส่วนการสร้างบ่อน้ำยังทำให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ด้วย ทั้งนี้ สถานที่ในการก่อสร้างจะต้องมีการพิจารณาถึงเส้นทางน้ำไหลตามธรรมชาติเป็นสำคัญ โดยอาจปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมืองทั้งในเรื่องความเป็นไปได้ในทางเทคนิคและวิศวกรรม รัฐต้องเตรียมระบบเตือนภัยที่มีความเที่ยงตรงและแม่นยำมากที่สุด เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากภัยภิบัติ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งเป็นหน่วยงานหลักจะต้องบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานอื่นที่มีศักยภาพในการให้ข้อมูลทางด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันสารสนเทศทรัพยาการน้ำและการเกษตร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มูลนิธิสภาพเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมอุทกศาสตร์ รัฐควรให้ความสำคัญในการวิเคราะห์ปัญหาควบคู่ไปกับการใช้ข้อมูลทางสถิติ และมีช่องทางในการเตือนภัยเช่นผ่านสื่อมวลชนโดยเฉพาะรายการวิทยุ ผ่านการส่งข้อความตามมือถือ (sms) ที่สำคัญ ต้องมีการเตือนภัยผ่านวิทยุโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้ในทุกเวลาที่มีการยืนยันว่าอาจจะเกิดภัยพิบัติขึ้น
ในส่วนการบรรเทาสาธารณภัยนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องเตรียมระบบและแผนการปฏิบัติงานไว้รอบรับกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในทั่วประเทศ ควรมีการวางแผนและซักซ้อมและจำลองสถาการณ์ เช่น การเตรียมเส้นทางเพื่ออพยพประชาชนออกจากพื้นที่ภัยพิบัติ เตรียมสถานที่เพื่อรองรับผู้อพยพ ให้บริการด้านยังชีพแก่ผู้ประสบภัย และฝึกซ้อมประชาชนเป็นครั้งคราว
ในส่วนการบุกรุกทางน้ำสาธารณะและปัญหาการตื้นเขินของลำน้ำ ที่ทำให้แหล่งน้ำไม่สามารถระบายน้ำได้โดยสะดวกและเร็วอย่างที่ควรจะเป็นนั้น กรมเจ้าท่าและหน่วยงานอื่นที่มีศักยภาพจะต้องดำเนินการขุดลอกแม่น้ำ คู คลอง รวมถึงดำเนินคดีกับผู้ที่บุกรุกลำน้ำ
ในการก่อสร้างและพัฒนาถนนของกรมทางหลวงชนบทต้องมีการนำปัจจัยทางผังเมืองซึ่งเกี่ยวกับการระบายน้ำตามธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาตัดถนน เพื่อป้องกันอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากการสร้างถนนมักละเลยการพิจารณาเรื่องผังเมือง ทำให้ถนนหลายสายขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นขวางทางระบายน้ำตามธรรมชาติหรือไม่มีท่อลอดใต้ถนนเพื่อช่วยระบายน้ำ
กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทต้องศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางน้ำอยู่เสมอ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาการระบายน้ำของถนน ทั้งนี้ เนื่องจากปกติแล้ว การสร้างถนนต้องมีการศึกษาแนวทางที่น้ำไหลโดยต้องวางแผนจัดทำท่อลอกสำหรับการระบายน้ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เส้นทางน้ำไหลหรือทางระบายน้ำอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ เนื่องจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินเปลี่ยนไป มีสิ่งก่อสร้างเกิดขึ้นขวางทางระบายน้ำ น้ำจึงไหลไปทางอื่นที่ไม่ได้มีการจัดเตรียมท่อลอดไว้
ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละจังหวัดต้องร่วมกันจัดทำแผนป้องกันอุทกภัยเบื้องต้น ทั้งสถิติการเกิดอุทกภัย ความรุนแรงของผลกระทบ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการวางแผนป้องกัน ต้องมีการซักซ้อมและทดสอบความพร้อมในการบรรเทาสาธารณภัยอย่างน้อยปีละครั้ง
สำนักงบประมาณต้องจัดสรรงบประมาณให้สมเหตุสมผลเป็นไปตามความสำคัญและความจำเป็นที่แท้จริงแก่หน่วยงานที่ดำเนินการทางด้านการบริหารจัดการน้ำให้ ทั้งงบประมาณในการพัฒนาองค์ความรู้ จัดซื้อเครื่องมือและวิทยาการที่ทันสมัย ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันทำงานกันอย่างบูรณาการและไม่ให้มีการทำงานซ้ำซ้อน รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกรมชลประทาน ควรเลื่อนระยะเวลาการเพาะปลูกข้าวหรือพืชผลอื่นๆที่อาจจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายฤดูฝน มาเป็นช่วยระยะเวลาหลังฤดูฝนหลังจากเกิดอุทกภัยแล้ว เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องเสียหาย เนื่องจากน้ำท่วมผลผลิตจนขาดทุน
วิธีแก้ปัญหาในระยะยาว
ต้องมีการดูแลรักษาป่าต้นน้ำให้สมบูรณ์อยู่เสมอ ไม่ให้ป่าถูกบุกรุกทำลายได้ เพราะป่าเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ ป้องกันการเกิดน้ำป่าไหลหลากและการพังทลายของดิน ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการบุกรุกแผ้วถางป่าเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าเหลือน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด รัฐจำเป็นจะต้องจัดทำผังเมืองครอบคลุมทั้งประเทศ และออกเป็นกฎหมายผังเมืองประเทศโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันและอนุรักษ์พื้นที่ลุ่มน้ำซึ่งมีไม่น้อยกว่า 25 แห่งไว้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของประเทศ และโดยการห้ามออกเอกสารสิทธิ์ใดๆในที่ดินอนุรักษ์นี้ทั้งหมด มีการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน (zoning) อย่างชัดเจนไม่ให้มีการรุกล้ำแหล่งระบายน้ำและลำน้ำตามธรรมชาติ การจะก่อสร้างอาคารหรือสาธารณูปโภคใดๆของทั้งรัฐและเอกชนจะต้องยึดแนวปฏิบัติตามผังเมืองเป็นหลัก
และรัฐควรต้องทบทวนเกี่ยวกับการถ่ายโอนอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะภารกิจที่ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางในการวางแผนและปฏิบัติงาน เพราะที่ผ่านมา หลายๆภารกิจที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรับการถ่ายโอนจากหน่วยงานแล้วไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น