วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554
เปิดแผน'บริหารแผ่นดิน4ปี' รัฐบาล'ยิ่งลักษณ์'
เป็นแผนบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในช่วงปี 2555-2558 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
รัฐบาลจะมุ่งมั่นการพัฒนาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และพัฒนาไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน โดยยึดหลักการบริหารที่มีความยืดหยุ่นที่คำนึงถึงพลวัต การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้รัฐบาลจะดำเนินการให้บรรลุภารกิจดังกล่าว ภายใต้แนวทางพื้นฐานหลัก 3 ประการ คือ
1.เพื่อนำประเทศไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่สมดุล มีความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน การพัฒนาคุณภาพและสุขภาพคนไทยในทุกช่วงวัย ถือเป็นปัจจัยชี้ขาดความสามารถในการอยู่รอดและแข่งขันได้ของเศรษฐกิจไทย
2.เพื่อนำประเทศสู่สังคมที่มีความปรองดอง สมานฉันท์และอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมที่เป็นมาตรฐานสากลเดียวกันและมีหลักปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อประชาชนคนไทยทุกคน
3.เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปี 2558 อย่างสมบูรณ์ โดยสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการเมืองและความมั่นคง
@ กรอบการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล
เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถบรรลุถึงภารกิจตามนโยบายรัฐบาล จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์และวิธีการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบาย โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะเร่งด่วนที่จะเริ่มในปีแรก
ดำเนินนโยบายในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน รวมทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยเฉพาะการให้สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ ให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งการยกระดับราคาสินค้าเกษตร การเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงาน และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี การให้เบี้ยยังชีพรายเดินแบบขั้นบันได แก่ผู้สูงอายุ นอกจากนั้น จะดำเนินการเร่งการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศ และนอกประเทศ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้การดำเนินงานระยะเร่งด่วน ในปีแรก จะครอบคลุมการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่ประเทศไทย และคนไทยเผชิญอยู่ใน 3 เรื่องสำคัญได้แก่
1.การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ การสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในสังคม และการพัฒนาการเมืองของประเทศ เพื่อให้คนไทยหันกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างพี่น้อง มีความสามัคคี สังคมไทยมีความสงบสุข และปลอดจากปัญหายาเสพติด ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ และความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยเร่งดำเนินการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ การแก้ไขปัญหายาเสพติดตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ การป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่นในภาครัฐ การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
2.การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชน และการสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ และการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของเยาวชนและประชาชน โดยเพิ่มรายได้ให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ควบคู่ไปกับการลดรายจ่ายของประชาชน ทั้งในด้านราคาสินค้าและราคาพลังงาน สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการสร้างอาชีพ รวมทั้งการสร้างหลักประกันในด้านสุขภาพ และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาเยาวชนไทย
3.การสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรเพื่อการเกษตร และการสร้างรายได้ของประเทศ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยสร้างความมั่นคงของภาคการผลิตทางการเกษตร ด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและการขยายเขตพื้นที่ชลประทาน การสร้างรายได้เข้าประเทศผ่านการท่องเที่ยว และการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยการฟื้นฟูสัมพันธ์อันดี และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ รวมทั้งลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและการขยายฐานภาษีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558
@ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ
มีการกำหนดเป้าประสงค์เชิงนโยบายไว้ 5 เรื่อง คือ เรื่องที่หนึ่ง สังคมไทยมีความสมานฉันท์ประชาชนในชาติ มีความรักสมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรื่องที่สอง ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรื่องที่สาม สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง เรื่องที่สี่ บุคคลทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากความเห็นที่แตกต่าง และความรุนแรงที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายของการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ได้รับการเยียวยาและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง เรื่องที่ห้า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ดำเนินการอย่างเป็นอิสระและได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่
นโยบายที่จะดำเนินการในระยะ 4 ปี
รัฐบาลได้กำหนดนโยบายพื้นที่ที่จะดำเนินการในระยะ 4ปีของรัฐบาล โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีแรกเป็นต้นไป ดังนี้
1. ด้านความมั่นคงแห่งรัฐ เทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศ และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาการเตรียมความพร้อมแห่งชาติ เพื่อให้มีความพร้อมรับมือกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ในทุกด้าน
2. ด้านสร้างรายได้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ขยายบทบาทให้ธุรกิจการเกษตรและอาหารซึ่งเป็นแหล่งรายได้และการจ้างงาน เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอาหารคุณภาพสูง และยกระดับความสามารถในการแข่งขันโดยการขยายช่องการตลาด รวมทั้งดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในการผลิตสินค้าและบริการที่มีเทคโนโลยีสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. ด้านเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญในการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ มีการจ้างงานที่เต็มที่ รวมทั้งมีความระมัดระวังความเสี่ยงจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และมีการส่งเสริมการสร้างรายได้ภายในประเทศ โดยการเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ และสร้างความเข้มแข็งให้กับสภาพแวดล้อมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการตลาด ภายใต้กรอบความร่วมมือและข้อตกลงการค้าเสรี นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบรางเพื่อขนส่งมวลชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการขนส่งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างโอกาสในกระจายรายได้ และการกระจายการลงทุนไปสู่ชนบท เป็นต้น
4. ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต เร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการสร้างโอกาสทางการศึกษาพร้อมทั้งปฏิรูประบบการผลิตครูให้มีคุณภาพทัดเทียมกับนานาชาติ สร้างแรงจูงใจให้คนเรียนดี และมีคุณธรรมเข้าสู่วิชาชีพ เร่งพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการศึกษา และพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อให้การกระจายครูเพื่อขจัดปัญหาการขาดแคลนครูในสาขาวิชาหลัก เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา ด้านการคุ้มครองแรงงานรัฐบาล ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในการทำงานและสวัสดิการแรงงาน และหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิประโยชน์ในการประกันสังคมให้มากขึ้น และขยายความคุ้มครองถึงแรงงานนอกระบบ ที่รัฐจะต้องดูแลภายใต้ระบบคุ้มครองแรงงาน การจัดสวัสดิการ และบริการทางสังคม แก่ผู้ด้อยโอกาส และคนยากจนให้ทั่วถึง รวมทั้งยังเร่งยกระดับฝีมือแรงงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ใช้แรงงานมีฝีมือ ทั้งระบบและเตรียมการรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานภายใต้ประชาคมอาเซียนในปี 2558 นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพให้บริการสุขภาพทั้งระบบโดยการเร่งผลิตบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เพียงพอ การจัดให้มีมาตรการสร้างสุขภาพโดยมีเป้าหมายในการลดอัตราการป่วยตาย และผลกระทบจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมทั้งการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเลิศในด้านผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล ในภูมิภาคเอเชีย
5. ด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทุนทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ทรัพยากร การพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ และการส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ นอกจากนั้นยังมีการสร้างภูมิคุ้มกันและเตรียมความพร้อมในการรองรับต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติ
6. ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม เร่งพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมบนฐานความรู้ โดยการส่งเสริมการลงทุนในการวิจัยพัฒนาร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การวางแผนการผลิตด้านการเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิต และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ร่วมทั้งเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ
7. ด้านต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ส่งเสริมพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมทั้งเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558
8. ด้านการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พัฒนาระบบราชการเน้นการบริหารงานเชิงกลยุทธ์เสริมสร้างประสิทธิภาพของระบบบริหารงานแบบบูรณาการ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีระบบที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และปรับปรุงระบบการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งการช่วยเหลือด้านกฎหมาย ส่งเสริมกองทุนยุติธรรมเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาสรวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว ถูกต้องเป็นธรรม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น