วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

นายยกเยือนอินโดนีเซีย

นายกรัฐมนตรีเยือนบรูไน

นายกยิ่งลักษณ์เยือนประเทศอาเซียนกระชับความสัมพันธ์


     วันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2554 เวลา 15.15 น. นายกรัฐมนตรีจะออกเดินทางจากท่าอากาศทหารกองบิน 6 เพื่อไปยังบรูไนดารุสซาลาม และมีกำหนดการที่จะเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ณ พระราชวังนูรุล อิมาน เพื่อหารือข้อราชการ และเข้าร่วมงานเลี้ยงพระกายาหารค่ำที่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงพระราชทานเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ ก่อนจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในเวลาประมาณ 00.45 น. ณ ท่าอากาศยานทหารกองบิน 6
     การเดินทางเยือนประเทศบรูไนในครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นประเทศแรกของนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับบรูไน โดยคาดว่า จะมีการหารือในภาพรวมของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-บรูไน และความร่วมมือในกรอบทวิภาคีที่สำคัญ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร ความร่วมมือด้านการศึกษา ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมฮาลาล ความร่วมมือด้านพลังงาน รวมทั้งจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือในกรอบอาเซียน และนายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณบรูไนที่ให้การสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation- OIC) อีกด้วย
     วันจันทร์ที่ 12 กันยายน 2554 เวลา 05.45 น. นายกรัฐมนตรีจะออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 เพื่อไปยังสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งมีกำหนดการที่จะหารือข้อราชการกับ ดร. ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ณ ทำเนียบประธานาธิบดี ก่อนที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปร่วมพิธีวางพวงมาลา ณ  อนุเสาวรีย์วีรชน ก่อนเดินทางกลับถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 เวลา 18.00 น. ในวันเดียวกัน
โดยนายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้ ย้ำถึงความร่วมมือระหว่างไทย-อินโดนีเซียในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และแนวทางความร่วมมือในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นหุ้นส่วนทางยุทศาสตร์ระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยและอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดในทุกระดับและทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในกรอบอาเซียน
      การเยือนเพื่อแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่งครั้งนี้ จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ดีระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งใช้โอกาสดังกล่าวในการติดตามทบทวนสถานะความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยและอินโดนีเซียในด้านต่างๆ และหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในอนาคตในด้านที่ทั้งสองฝ่ายเห็นประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนประเด็นนานาชาติที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน ทั้งนี้ ไทยและอินโดนีเซียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 และได้ฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไปเมื่อปี พ.ศ. 2553
      นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศกัมพูชา ในวันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2554 และประเทศลาว ในวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2554 ต่อไป

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

นายกรัฐมนตรีเปิดปฏิบัติการเอาชนะยาเสพติด

นโยบายปราบปรามยาเสพติดของนายกยิ่งลักษณ์

รัฐบาลยิ่งลักษณ์   คิกออฟปราบยาเสพติด วอนทุกฝ่ายร่วมมือแก้ปัญหา ยกเป็นวาระแห่งชาติวางเครือข่ายทุกหมู่บ้านเฝ้าระวัง
"เฉลิม" นั่งประธาน ตั้งเป้า 1 ปีเห็นผล เล็งใช้มาตรการยึดทรัพย์ควบคู่ปราบปราม...

  เมื่อเวลา 10.00 น. 11 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดปฏิบัติการวาระแห่งชาติพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดโดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข ร่วมงานกว่า 500 คน
     น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวเปิดปฏิบัติการว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่รัฐบาลนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงชี้ให้เห็นภัยอันตรายของปัญหานี้

"ปัญหานี้ทำลายสังคม เศรษฐกิจ เเละอนาคตของลูกหลาน เยาวชน หากวันนี้ได้ผู้ป่วย 4 แสนคนกลับคืนมาให้สังคมจะเป็นพลังและตัวแทนในการแก้ปัญหา ขอฝากให้ทุกฝ่ายกลับไปวิเคราะห์ต้นเหตุปัญหาและสาเหตุเยาวชนที่ติดยาเสพติด
เพราะเป็นตัวเลขที่น่าใจหาย เยาวชนที่ติดยาเสพติดอายุประมาณ 16-24 ปี กลุ่มนี้เป็นกำลังสำคัญของชาติ ทุกฝ่ายควรเข้าใจปัญหาทั้งหมด การประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้เป็นวาระแห่งชาติที่แท้จริง
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศพส. กล่ามอบนโยบายว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า 1 ปีจะลดยาเสพติดให้ได้ ตั้งใจประการแรกว่า จะต้องลดปริมาณยาเสพติดและกลุ่มเสี่ยงให้ได้ ที่สำคัญคือ จะให้คงหน่วยงาน ปส.315 ซึ่งก่อตั้งเมื่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเอาไว้ เพราะจำเป็นจะต้องเอาไว้ช่วยงานเรื่องยาเสพติด เราต้องแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด โดยเฉพาะในเรือนจำที่มีการสั่งการให้ซื้อขายยาเสพติด หากท่านไม่สามารถตัดสัญญาณโทรศัพท์ หรือห้ามไม่ให้มีการขายโทรศัพท์ในเรือนจำได้ ท่านก็ควรจะดักฟังไปเลย สำหรับมาตรการปิดรอยตะเข็บชายแดนนั้น พบว่า ในพื้นที่ จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เป็นจุดที่มียาเสพติดผ่านทั้งหมด 87% ที่เหลือมาจากทางอื่น ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องไปจัดการปิดตะเข็บชายแดนให้เรียบร้อย หากวันนี้เราตั้งด่านอยู่ 80 ด่าน ก็เพิ่มเป็น 200 ด่าน



       นอกจากนี้ ยังต้องมีมาตรการสกัดสารตั้งต้นที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ต้องขอร้องกระทรวงสาธารณสุขให้ไปหาหนทางควบคุมการนำเข้ายาแก้หวัดและยาแก้ไอให้ได้
ส่วนมาตรการการป้องกันนั้น จะมีศูนย์พลังแผ่นดินอยู่ทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด โดยขอร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัด เดินไปด้วยกันในการแก้ไขปัญหายาเสพติด สำหรับมาตรการบำบัดฟื้นฟูนั้นได้แจ้งไปยัง รมว.กลาโหม และ รมว.ยุติธรรม ขอให้ไปตรวจดูผู้ต้องโทษเรื่องยาเสพติดทั้งในคุกทหารและเรือนจำ ของกรมราชทัณฑ์ หากคนใดมีพฤติกรรมดีก็ให้เอามาเข้าโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง รัฐบาลจะมีมาตรการปราบปรามที่จะยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมากล่าวหากันว่ามีการฆ่าตัดตอน แต่ผลการสอบสวนของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ชี้ชัดเจนว่าไม่มีการฆ่าตัดตอนแม้แต่คดีเดียว
       นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปจัดการเรื่องสารตั้งต้น เรื่องการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาในชุมชน โดยคาดหวังว่าจะสามารถป้องกันในเรื่องของผู้เสพราย ใหม่ กลุ่มเสี่ยงไม่ให้เพิ่มมากขึ้น
       พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม กล่าวว่า
กระทรวงกลาโหมได้วางแผนในการดำเนินการ 5 นโยบาย คือ
1.ป้องกันไม่ให้กำลังพล ครอบครัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
2.ด้านข่าวกรองยาเสพติดต้องมีประสิทธิภาพทั้งในและนอกประเทศ
3.สกัดกั้นการนำเข้า การส่งออกยาเสพติด
4.สนับสนุนการทำงานของหน่วยงานอื่นๆ ผ่าน กอรมน. เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องยาเสพติด
5.สนับสนุนการฟื้นฟูและบำบัดผู้ติดยาเสพติด ขยายการฝึกนักเรียนในโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองให้ได้ 3 หมื่นคนต่อปี
       พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า
กระทรวงยุติธรรมจะดำเนินนโยบายด้านยาเสพติดใน 5 ประการ คือ
1.บทบาทที่จะเป็นหน่วยนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือก สมานฉันท์มาปฏิบัติ โดยตอนแรกจะยังไม่ใช้กฎหมายเข้ม ให้โอกาสผู้เสพในการบำบัด นอกจากนี้จะกำหนดยุติธรรมจังหวัดขึ้นมาในทุกจังหวัดเพื่อดูแลโดยเฉพาะ
2.บทบาทการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย ใช้หลักนิติธรรม เน้นการปราบปรามเครือข่าย การค้า การขาย ผู้มีอิทธิพล ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด
3.บทบาทการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผ่านกรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
4.บทบาทของการบังคับใช้โทษโดยกรมราชทัณฑ์ ที่ต้องดำเนินการกับผู้ต้องขังด้วยความละมุนละม่อม และ
5.บทบาทในหน่วยบูรณาการผ่านสำนักงาน ป.ป.ส. สร้างความร่วมมือใหัหน่วยต่างๆ ให้เกิดขึ้น
       พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องการปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้สั่งกำชับไปยังทุกกองบัญชาการให้เข้มงวดกวดขันมากขึ้น
ส่วนการปราบปรามในเชิงลึก ทางตำรวจได้ดำเนินมาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการทั้งหมด 18 ชุด โดยเป็นชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บช.ภ.5-6 ชุดหนึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ 17-18 นาย
ที่จะระดมปราบปรามในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วยเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน การทำงานเบื้องต้นจะต้องเห็นผลภายใน 3-4 เดือน ต่อจากนี้จะมีการดึงเจ้าหน้าที่จากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เข้ามาช่วยประกอบกำลังด้วยแต่จะยังไม่มีการนำชุดปฏิบัติการดังกล่าวมาใช้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะต้องรอการประเมินเสียก่อน นอกจากนี้จะมีการสนับสนุนเรื่องงบประมาณต่างๆ ทั้งการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และรถยนต์ไว้ใช้ในพื้นที่เข้าไปเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่

ยิ่งลักษณ์ย้ำนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท

นโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ปริญญาตรี 15000 บาท เริ่มมกราคม 2555



     นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี ปรับ ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ปริญญาตรี 15,000 บาท คลอบคลุม กลุ่มราชการคือ
  • ข้าราชการ 
  • ลูกจ้างประจำ 
  • ลูกจ้างชั่วคราว ที่จ้างจากเงินงบประมาณ 
  • พนักงานราชการ 
  • ทหารกองประจำการ
โดยจะแบ่งกลุ่มเงินเดือนออกเป็น 4 กลุ่มคือ
กลุ่มปริญญาตรีผู้ได้รับเงินเดือนเกิน 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000บาท จะมีเงินค่าครองชีพเพิ่มให้อีก
กลุ่มปริญญาตรีที่เงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท จะเพิ่มค่าครองชีพให้เป็น 15,000 บาท
กลุ่มผู้มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี ที่ได้รับเงินเดือน 9000 บาทขึ้นไป รับค่าครองชีพ 1,500 บาท
กลุ่มผู้มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี ที่ได้รับเงินเดือนไม่ถึง 9,000 บาท จะเพิ่มค่าครองชีพให้ถึง 9,000 บาท
     อย่างไรก็ดี ในส่วนของรายละเอียดต่างๆ และหน่วยงานที่ไม่ใช่ราชการ จะต้องติดตามข่าวกันต่อไป
สำหรับส่วนของหน่วยงานราชการ กระทรวงการคลัง จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า (ประมาณ กลางเดือน กันยายน 2554) ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2555 ต่อไป



*เพิ่มเติมจากเว็บไซต์ กระทรวงการคลัง
ข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 93/2554 วันที่ 1 กันยายน 2554
“คลัง” เตรียมเสนอ ครม. เพิ่มเงินปริญญาตรี 15,000 บาท
----------------------------------

     กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอ ครม. เพื่อปรับรายได้บุคลากรภาครัฐ วุฒิปริญญาตรีขั้นต่ำต้องรับ 15,000 บาท พร้อมทั้ง พิจารณาให้ปรับกลุ่มที่ต่ำกว่าปริญญาตรีด้วย นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลเรื่องการ ปรับรายได้ให้แก่บุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะที่ผู้จบปริญญาตรีเมื่อเข้ามาทำงานในระบบราชการควรมีรายได้ขั้นต่ำอย่างน้อย 15,000 บาทต่อเดือน ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมบัญชีกลาง จึงได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางไปศึกษาพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป นายวิรุฬ กล่าวว่า โดยหลักเกณฑ์ทั่วๆ ไป ที่กรมบัญชีกลางได้เสนอมาก็จะเป็นการกำหนดกลุ่มบุคลากร ภาครัฐ ที่จะได้รับการปรับเงินเพิ่มในครั้งนี้ซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาของกระทรวงการคลัง และอัตราเงินเพิ่มที่จะได้รับตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของแต่ละกลุ่มฯ โดยแนวทางจะดำเนินการจ่ายเป็นเงินช่วยค่าครองชีพ (พ.ช.ค.) ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ทันทีตามอำนาจของกระทรวงการคลัง โดยการแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลัง โดยกลุ่มบุคลากรภาครัฐที่จะพิจารณาปรับเพิ่มรายได้ครั้งนี้จะครอบคลุม 5 กลุ่ม คือ ข้าราชการ  ลูกจ้างประจำ  ลูกจ้างชั่วคราวที่จ้างจากเงินงบประมาณ  พนักงานราชการและทหารกองประจำการ ที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของกระทรวงการคลังโดยการแก้ไขระเบียบ กระทรวงการคลัง และตามฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐจากระบบการเบิกจ่ายเงินเดือนค่าจ้างที่ กรมบัญชีกลางกำกับดูแลอยู่นั้น ปัจจุบันมีบุคลากรภาครัฐที่มีเงินเดือนและค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน
จำนวน 649,323 คน แบ่งเป็นตำแหน่งที่ใช้วุฒิปริญญาตรี ขึ้นไป จำนวน 346,365 คน ต่ำกว่าปริญญาตรีโดยรวมถึงทหารกองประจำการจำนวน 302,958 ราย โดยผู้ที่วุฒิปริญญาตรีขึ้นไปจะได้รับเงิน พ.ช.ค. เพิ่มรวมเงินเดือนเป็น15,000 บาท สำหรับผู้ที่วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรียังคงได้รับเงิน พ.ช.ค. 1,500 บาท เช่นเดิม โดยจะขยายเพดานอัตราเงินที่ได้รับเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้กลุ่มที่ได้รับเงินเดือนค่าจ้างและทหารกองประจำการที่ได้รับเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงประจำ ไม่ถึง 9,000 บาท ก็จะได้รับเงิน พ.ช.ค. เพิ่มรวมกันให้ได้รับเป็น 9,000 บาท ด้วย โดยจะใช้เงินงบประมาณประมาณปีละ 24,533 ล้านบาท ซึ่งได้มีการศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ แล้วไม่เป็นปัญหา “การปรับรายได้ดังกล่าวกระทรวงการคลังได้เสนอแนวทางโดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้ บุคลากรภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นและเหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพและเป็นการช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจดียิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ในเดือนมกราคม 2555 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่บุคลากรภาครัฐ สำหรับกลุ่มอื่น ๆ ได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป” นายวิรุฬกล่าว